เก็บตก “ค่ายพัฒนานักออกแบบตัวพิมพ์” 1/3
นานๆ ทีจะเขียนบล็อกบทความยาวๆ สักครั้ง ด้วยเห็นว่าในครั้งนี้ผม (ในนามของเว็บมาสเตอร์ฟอนต์.คอม) ได้รับเกียรติจาก “ชมรมการจัดพิมพ์อิเล็กทรอนิกไทย” ให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินผลงานและวิทยากรร่วม เลยได้มีการสรุปการบรรยายและบรรยากาศต่างๆ มาให้ผู้สนใจได้อ่านกัน ยาว(ไม่)หน่อยนะครับ แต่สนุกน่าดูเลยแหละ!
ชมรมการจัดพิมพ์อิเล็กทรอนิกไทยและการประกวดฟอนต์
โดย คุณประสิทธิ์ คล่องงูเหลือม (ประธานชมรมฯ) และคุณปราสาท วีรกุล (ประธานโครงการฯ)
ชมรมการจัดพิมพ์อิเล็กทรอนิกไทย (Thai Electronic Publishing Club) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2535 โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อการพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการพิมพ์ และจัดโครงการต่างๆ เกี่ยวกับฟอนต์อย่างต่อเนื่อง โดยทุกคนทำงานด้วยใจ ไม่มีค่าตอบแทน และมีผู้สนับสนุนจากบุคคลและองค์กรต่างๆ ในอุตสาหกรรมการพิมพ์
เมื่อปี พ.ศ.2545 ได้มีประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ฟอนต์ในประเทศไทย ทำให้เกิดการตื่นตัวครั้งใหญ่ในเรื่องลิขสิทธิ์ ว่าที่จริงแล้ว “ฟอนต์มีลิขสิทธิ์หรือไม่” (ในปัจจุบันเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าในประเทศไทย แม้ในรูปแบบฟอนต์จะไม่มีการคุ้มครอง แต่ไฟล์ฟอนต์นั้นมีลิขสิทธิ์ทางปัญญาคุ้มครองแล้ว แต่ในระดับสากลเขาคุ้มครองทั้งสองอย่างเลยนะ) เมื่อระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้เริ่มพบปัญหารอยต่อด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับฟอนต์ที่ไม่เป็นมาตรฐาน จึงได้มีการยกระดับมาตรฐานของเทคโนโลยีฟอนต์ให้เป็นไปอย่างสากล
และในที่สุดก็ได้มี “การประกวดแบบตัวพิมพ์ไทยเพื่ออุตสาหกรรมการพิมพ์” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยทางชมรมฯ ได้เชิญชวนนักออกแบบต่างๆ มาร่วมส่งผลงาน โดยใช้คำว่า “จตุพรกินหอยสังข์” เป็น ในที่สุดก็ได้ “10 แบบตัวพิมพ์เพื่อชาติ” เป็นชื่อที่เรียกขานฟอนต์กันอย่างไม่เป็นทางการ โดยทาง Apple ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสนัับสนุนความรู้ด้านเทคนิคเรื่อง OpenType และแจกจ่ายไฟล์ฟอนต์ให้ใช้ได้ฟรี ในการประกวดครั้งนั้นเอง จึงทำให้วงการฟอนต์ของไทยได้มีการเคลื่อนไหวจนทำให้มีนักออกแบบรุ่นใหม่ออกมาวาดลวดลายในวงการมากขึ้น
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2549 ทางภาครัฐได้จัดงบประมาณผ่านทาง SIPA และมูลนิธิของ อ.ศรีศักดิ์ จามรมาน จัดประกวดฟอนต์เป็นครั้งที่ 2 ขึ้น (ที่เราเรียกกันในนาม “การประกวดฟอนต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา”) และได้แบบตัวพิมพ์ใหม่มาอีก 10+3 ฟอนต์ โดยการประกวดครั้งนั้นใช้ข้อความในเนื้อแบบตัวพิมพ์สำหรับการประกวดว่า “ศรีศักดิ์จะขอเพียง อย่าหลีกเลี่ยงตอนน่าดู” และได้พัฒนาตัวพิมพ์จนเสร็จสมบูรณ์ (ชื่อฟอนต์ขึ้นต้นด้วย TH และมีแจกให้ดาวน์โหลดฟรีในฟอนต์.คอมด้วยนะครับ)
ในปี พ.ศ.2551 ทางชมรมฯ ร่วมกับสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ ได้มีการพัฒนาตัวพิมพ์ที่มีมาอยู่แล้วแต่ดั้งเดิม โดยทำให้มีมาตรฐานในด้านเทคนิคมากขึ้น คือปรับฟอนต์ให้เป็นแบบ Unicode และแจกฟรีอีกหนึ่งชุด (ชื่อฟอนต์ขึ้นต้นด้วย TF) โดยสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของทางชมรมฯ
และในปี พ.ศ.2554 นี้เอง ทางชมรมฯ จึงได้ปรับแนวทางการประกวด เพื่อให้ได้แบบตัวพิมพ์ใหม่ๆ มาเป็นการประกวดในชื่อโครงการ “แข่งขัน-ประชัน-นักออกแบบตัวพิมพ์รุ่นใหม่ #1” เพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายนักออกแบบฟอนต์ให้แข็งแกร่งและกว้างขวางยิ่งขึ้น และส่งเสริมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ในวงการให้มีความหลากหลายมากขึ้น และสามารถพัฒนาเป็นอาชีพและบรรลุวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วจึงได้จัด “ค่ายพัฒนานักออกแบบตัวพิมพ์” ในครั้งนี้ขึ้น และต่อไปน่าจะได้จัดกิจกรรมประกวดแบบนี้ทุกๆ ปีด้วยครับ
เก็บตกบรรยากาศของค่ายพัฒนานักออกแบบตัวพิมพ์
ทางชมรมฯ ได้จัดทริปสนุกๆ ขึ้นสำหรับผู้ชนะการประกวดออกแบบตัวพิมพ์ 20 คน (รวมถึงคณะกรรมการตัดสิน-วิทยากร .. รวมถึงผมด้วยครับ แหะๆ) โดยพาทัวร์จังหวัดราชบุรี เพื่อเที่ยวชมวัฒนธรรมพื้นถิ่นของชาวมอญ และเข้าใจต้นกำเนิดของอารยธรรมสุวรรณภูมิ และจัดกิจกรรมสัมมนา-โปจเจกต์ออกแบบงานร่วมกันที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางขุนเทียน เมื่อวันที่ 30 เม.ย.-2 พ.ค.54 ที่ผ่านมา
ส่วนภาพบรรยากาศของค่ายฯ นั้น ผมอัปโหลดไว้ที่ Flickr เรียบร้อย กดดูได้เลยครับ
(ใครจะเอาภาพไปใช้ทำอะไรก็เชิญได้เลยจ้ะ ตามสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์-BY)
สรุปการบรรยายเรื่อง “อักขระวิวัฒนาการ จากผนังถ้ำสู่อินเทอร์เน็ต”
โดย อ.ธีระ ปิยะคุณากร
- มนุษย์อยู่ได้ด้วยปัจจัยต่างๆ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค โดยธรรมชาติได้สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมา ต่อมาเมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกัน จึงต้องมีปัจจัยเสริมคือการ “สื่อความ” (Communication) เพื่อประโยชน์ในการดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
- เสียงคือสื่อพื้นฐานมากที่สุด (ในสภาวะสมบูรณ์ปกติ) ของสัตว์โลกชั้นสูงแทบทุกชนิด เมื่อมีการวิวัฒนาการโดยยีนและสภาพแวดล้อม มีการกำหนดใช้กันอย่างเป็นระบบแตกต่างกันไปในแต่ละชาติพันธุ์ เกิดเป็นภาษา
- เสียงมีข้อจำกัดเรื่องระยะทาง, การจัดเก็บให้คงสภาพเหมือนต้นแบบไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยาก “ภาพ” จึงเป็นทางออกในการสื่อความเพื่อแก้จุดบกพร่องดังกล่าว โดยมีการสร้างเป็นภาพเลียนจากของจริงในธรรมชาติ
- แต่ภาพก็ยังมีข้อจำกัดคือ ต้องมีฝีมือในการจัดทำ หรือการถอดรหัสตีความแล้วมีการผิดเพี้ยน และในสมัยนั้นยังต้องวาดภาพลงในพื้นที่ตายตัว (เช่นผนังถ้ำ) ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้
- อักขระ (Character, Glyph, Letter) จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกในการสื่อความด้วยภาพ โดยมีการใช้เป็นภาพเชิงสัญลักษณ์, เปลี่ยนแปลงมาใช้วัสดุที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์
- การคิดรูปแบบอักขระ จึงเป็นระบบบันทึกเสียงระบบแรกที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาในโลก!
- มีการกำเนิดวัสดุสังเคราะห์เพื่อการบันทึกภาพ นั่นคือกระดาษ โดยมีสองฝั่งฟากของโลกคือฝั่งอียิปต์ ใช้ไม้ปาปิรุส ส่วนฝั่งตะวันออกก็มีการคิดค้นเช่นกัน แต่ล้ำกว่า โดยขุนนางในราชสำนักได้นำด่างอย่างแรง(โซดาไฟ)มาผ่านกรรมวิธีสลายเซลลูโลสของไม้ กลายเป็นเยื่อกระดาษ ดังนั้นจีนจึงกลายเป็นเทคโนโลยีการเขียน
- (เกร็ด) จาง อี้ โหมว กำหนดคอนเซปต์การแสดงในพิธีเปิดโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมาเมื่อปี 2008 คือ เราทำอะไรให้กับโลกบ้าง 7 ประการ ซึ่ง 4 ใน 7 อย่างนั้นคือสิ่งพิมพ์! ได้แก่หมึก พู่กัน กระดาษ และตัวพิมพ์ไม้ตราประจำตระกูล ซึ่งนั่นแหละคือต้นกำเนิดของฟอนต์!!
- เริ่มมีการทำซ้ำเพื่อสนองความต้องการพื้นฐานด้านปริมาณ (ใช้เพื่อมวลชน และศาสนจักร) เกิดเป็นตัวพิมพ์ (Type)
- ระบบการพิมพ์ เริ่มมีการทำบล็อก ทำแม่พิมพ์
- Johannes Gutenberg (กูเต็นเบิร์ก) บิดาแห่งการพิมพ์ เป็นผู้คิดค้นเครื่องจักรและจัดพิมพ์หนังสือเล่มแรก คือคัมภีร์ไบเบิล 42 บรรทัด
- แท่นพิมพ์ (Press) เป็นประดิษฐกรรมแห่งสหัสวรรษ จากอดีต สู่ปัจจุบัน กลายเป็นเครื่องพิมพ์ดีด พิมพ์ดีดไฟฟ้า ทำไปทำมากลายเป็นเครื่องพิมพ์ดิจิทัลตัวละ 20 ล้าน
- ทั้งหมดนี้เพื่อการทำ ก ไก่ ข ไข่!
- ปัจจุบันสิ่งพิมพ์มีการพัฒนาไปยังสื่อประเภทอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ใช่แค่ในกระดาษ แต่ยังลามไปถึงหน้าจอประเภทอื่นๆ อีกมากมายในอนาคต
- โดยตัวอักษรยังเป็นองค์ประกอบหลักของการสื่อความด้วยภาพในสื่อทุกประเภท โดยเจตนากรมณ์มิเคยแปรเปลี่ยน
หมายเหตุ:
ขณะที่กำลังเขียนบล็อกบันทึกอยู่นี้ ค่ายฟอนต์ฯ ยังเพิ่งเข้าสู่วันที่ 2 ในช่วงสายเองครับ เดี๋ยวมีอะไรจะเก็บตกมาเล่าให้อ่าน (ยาวๆ แบบนี้) อีกแน่นอน!
01 May 2011