เก็บตก “ค่ายพัฒนานักออกแบบตัวพิมพ์” 2/3
ต่อจากตอนที่แล้ว: เก็บตก “ค่ายพัฒนานักออกแบบตัวพิมพ์” (ตอนที่ 1) คราวนี้เรามาต่อกันด้วยการบรรยายของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบตัวอักษรขั้นเทพของไทย คือ อ.ปริญญา โรจน์อารยานนท์, อ.ไพโรจน์ ธีระประภา (โรจ สยามรวย) และ อ.เอกลักษณ์ เพียรพนาเวชครับ ขออภัยที่คราวนี้เขียนยาวกว่าเดิมมากๆ แต่สำหรับผู้สนใจแล้ว นี่คือความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณค่ามากๆ เลยจ้ะ สนใจแล้วก็อ่านต่ออย่างตั้งใจได้เลย!
แกะรอย Font DNA โดยปริญญา โรจน์อารยานนท์
โดย อ.ปริญญา โรจน์อารยานนท์ (DB Fonts)
- ปัญหาในการออกแบบฟอนต์ ทำให้ ข้อความ “WSU” อาจอ่านได้เป็นตัวย่อของ “Washington State University” หรือ “รบ” ก็ได้
- อาจารย์เคยไปบรรยายที่สมาคมสถาปนิกสยาม ว่าด้วย “การปลดหัวตัวอักษรไทย” เลยเอามาเล่าให้ฟัง
- เอกลักษณ์ของอักษรไทยคือหัว .. ถ้าปลดล็อกเอกลักษณ์ไทย หมายถึงปลดหัวตัวอักษรไทย แล้วเราจะยอมให้เสียงมันแปร่งได้แค่ไหน?
- ตัวพิมพ์มีไว้อ่าน (สวยด้วยได้ก็ดี) เป็นหลักการออกแบบตัวอักษร
- “ฟอนต์ไทยเสมือนโรมัน” หมายความว่าฟอนต์ที่มีพื้นการออกแบบมาจากตัวโรมัน
- อาจารย์สนใจศึกษา และสังเกตการมีอยู่และถ่ายทอดพันธุกรรมของแต่ละฟอนต์
- จ จานใน “DB Sathorn” นั้นทำขึ้นมาเพื่อเลี่ยงไม่ให้เหมือนฟอนต์มานพติก้า ของ อ.มานพ
- พ พานของ DB Helvethaica ยอมให้เหมือนตัว W เพราะอยากให้มีบุคลิกแบบนั้น (แต่ถ้านำไปใช้ไม่ดีก็อาจจะเห็นปัญหา WSU ข้างต้น)
- ผ ผึ้ง มักจะทำเส้นกลางให้สั้นเพื่อไม่ให้ซ้ำ ส่วนในฟอนต์ DB Ozone นั้นสไตล์ของ ผ และ ฟ จะต่างกันไปเลย
- คนไทยชอบใช้ตัวดิสเพลย์เล็กมาก ซึ่ง อ.ไม่แนะนำ แต่ก็นิยมใช้กันเยอะ เลยทำฟอนต์มาตัวนึงให้ ท ทหารเป็นเหมือนตัว N กลับด้านซะเลยเพื่อกันการสับสน
- ฟอนต์ใหม่คือ DB Yord กำลังจะมา ซึ่งฟอนต์ตัวนี้ได้รับการถ่ยทอด DNA มาจากรุ่นพ่อแม่
- ฟอนต์ไทยประดิษฐ์แบบ “ละหัว” ที่ DB ทำ คือ DB EuroThai และ DB Ramintra เป็นตัวอย่าง 2 ตัวที่ไม่มีหัวและเน้นความกว้างของตัวฟอนต์
- “ดิฉัน” เป็นหัวหนังสือที่ดีที่สุดในประเทศไทยตอนนี้
- ฝรั่งมี Serif และ Sans Serif ในไทยก็จะมี TomLight (หรือ CordiaUPC) เป็น Serif และ DB EcoThai เป็น Sans-serif รื้อหัวให้สั้นลงเพื่อประหยัดหมึกขึ้น
- DNA ของตัวพิมพ์ไทยจะมีหัวขมวดม้วนๆ เช่น PSL COmmon, DB Zair, DB ComYard
- ลองคงหัวกลมไว้: DB FongNam, DB JariyaTham (ตัวหลังมี DNA คือเส้นเฉียงและถ่ายทอดไปยังตัวอื่นๆ และฟอนต์ตัวนี้เอามาเขียนคำว่า “จริยธรรม” ได้สวย)
- DB Soda 7 น้ำหนัก คือการเข้าสู่ยุค OpenType โดยทาง DB อยากให้คนไทยลองใช้ตัวที่มีน้ำหนักหนาๆ ไปใช้พาดหัวมากขึ้น
- “นักออกแบบฟอนต์ทำได้แค่รูปแบบ ส่วนนักเขียน ลงลึกได้ถึงเนื้อหา” นักออกแบบไม่ได้ทำฟอนต์เพื่อสนองความงามส่วนตัวของตนเองเท่านั้น
- ฉะนั้น ฟอนต์สวย + งานเขียนน่าสนใจ = ชวนอ่าน
แกะรอยตัวอักษรไทย จับลักษณะเด่นพื่อใช้เป็นหลักในการออกแบบตัวพิมพ์
- ตัวเนื้อที่ดี เมื่ออ่านต่อเนื่องจะจับใจความได้ต่อเนื่อง เหมือนคุยกับเราในสมอง
- ลักษณะเด่น 5 ประการของอักษรไทย เอามาสรุปได้เป็นคำว่า “ปรากฏ”
- หัวอักษรไทยมี 3 ประเภทคือ หัวขมวด หัวม้วน และหัวหยัก (ตัวหัวกลมธรรมดา แค่ตำแหน่งของหัวหันซ้ายหันขวาก็สามารถแยกแยะออกได้แล้ว)
- หาง (ตรง โค้ง และเฉียง) และหัวหยัก เป็นวิธีสร้างอักขระเพิ่ม (บ > ป)
- เส้นขมวดม้วน (น ม ห) รวมถึงการสอดไส้ (ษ)
- เส้นสะบัด (ร ธ ฐ โ)
- เส้นหยัก (ต ฅ ฏ)
- ปาก (ก) ตัว ก แม้จะไม่มีหัวแต่ก็มีปากที่สามารถออกแบบได้หลายอย่าง
- การแปลงร่าง ก > ภ > ฦ > ฏ
- การผสมตัวอักษร (ต + ม = ฒ)
- แนะนำตารางอักษรสัมพันธ์ของปริญญา
- แนะนำคู่สับสนที่มักคล้ายกันบ่อยๆ เช่น ช ซ เป็นต้น
- การลวงตา (ษ ไม่เท่า บ ) ลวงความสูง ช่องไฟ (ใช้ Kerning ช่วยได้)
แบรนด์กับตัวพิมพ์
- แบรนด์ ไม่ใช่แค่โลโก้ หัวจดหมาย ป้ายร้าน ไม่ใช่แค่ตราของสินค้าและบริการ แต่มันคือสำนึกที่ฝังสมอง (ต้องแรงพอหรือมีลักษณะอะไรสักอย่างที่สื่อสาร)
- แบรนด์ที่ดีต้องมีทั้งภาษาพูดและภาษาภาพ (Voice และ Verbal Expression) เกิดเป็น Impression
- Visual Expression: Brandmark, Color, Typography
- Verbal Expression: Tagline (สโลแกน), Headline, Copywriting, Baseline (คำสรุปตอนท้าย)
- ในบรรดา Verbal ทั้งหลาย เกี่ยวกับ Typography หมดเลย
- ฝรั่งแยกประเภทของแบรนด์ออกเป็น Lettermark, Wordmark, Pictorial (สองอย่างแรกเกี่ยวกับ Typeface)
- จะสร้างแบรนด์ไทยอวดฝรั่ง มี 2 แนวทาง คือ ตัวอักษรไทยทำเองไม่เลียนแบบตะวันตก หรือตัวโรมันที่ดูสากล
- มีฟอนต์ DB ของอาจารย์หลายตัวที่นำมาเสนอ (เปลี่ยนสไลด์เร็วจี๋ครับ พิมพ์ไม่ทัน)
- ตัวพาดหัวบางตัวก็เป็นตัวเนื้อได้
- นายแซ ช่างแกะอยู่ที่บางรัก (ต้นแบบของ DB Zair, DB ComYard, DB BangRak) เป็นอัจฉริยะในอดีตที่คิดค้นตัวพาดหัวได้งดงามที่สุด โดยใช้การแกะแบบพิมพ์ไม้ ยากกว่าสมัยนี้เยอะ แต่เป็นตัวที่สวยสุดๆ
- DB ChokeChai คล้ายฟอนต์ของ อ.โรจ สยามรวย แกะมาจากตัวอักษรของคณะช่าง ที่ตั้งชื่อว่าโชคชัยก็เพราะดูดีไซน์แล้วน่าจะเอาไปทำหนังสือพระเครื่อง เลยชื่อนี้คงเหมาะดี (ฮา)
(แถม) ปลดล็อกหมากรุกไทย
- อาจารย์มีบรรยายแถมเรื่องการออกแบบหมากรุกชนิดใหม่ด้วยการนำข้อดีของตัวหมากรุกไทย จีน และฝรั่ง เข้าด้วยกัน
- กลายเป็นหมากรุกชนิดใหม่ พร้อมดีไซน์ตัวหมากโดยใช้กราฟิกเข้าช่วย กลายเป็นหมากรุกใหม่ชื่อ OXELI (โอเซลิ-ชื่อนำมาจากลักษณะการเดินของหมากแต่ละตัว)
- หลังจากออกแบบเสร็จ อ.ก็เลยไปท้าแข่ง โดยอธิบายกติกาให้คู่แข่งได้ฟัง และในที่สุดก็แพ้ (ฮา) เพราะมาทราบทีหลังว่าคู่แข่งคือแชมป์หมากรุกชาวไทยที่ชนะหมากรุกมาแล้วหลายชาติ
- อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.oxelichess.com
.
แกะรอยตัวอักษรไทยโดยโรจ สยามรวย
โดย ไพโรจน์ ธีระประภา
- ชื่อฟอนต์ SR Rojee เกิดจากเพื่อนฝรั่งที่ทำงานเอเจนซี่ด้วยกันออกเสียงชื่อ “โรจ” ได้ลำบาก เลยใช้ชื่อโรจี้
- “ตัวอักษรมีไว้เพื่อสื่อสาร”
- บนกระดานที่ อ.บรรยายอยู่ มีตัวอักษรประหลาดที่หน้าตาคล้าย ฉ ฉิ่ง แต่ไม่คุ้นเอาเสียเลย เพราะดูจะคล้ายตัว R และพิสดารจนแกบอกว่า “เป็น ฉ ฉิ่งซ่าที่สุดที่ผมทำมา มันถือว่าเป็น ฉ ฉิ่งที่ละเมิดภาษาไทยมากๆ” เกิดจากการที่ อ.ไปคุยกับคุณวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องอินทรีแดง โดยมีสรุปสั้นๆ มาจากคุณวิศิษฏ์สั้นๆ ว่า “ขอไม่เชยนะ” ดังนั้น อ.โรจเลยถือว่าอินทรีแดงฉบับนี้เป็นการตีความใหม่ ตัวอักษรที่นำมาทำเป็นฟอนต์อินทรีแดงนี้จึงถือว่าเป็นการ “ตีความใหม่” เช่นกัน
- “ความไม่สมบูรณ์ ความไม่สมประกอบ เป็นสิ่งที่ผมชอบ และผมก็ทำงานแบบนี้มาโดยตลอด” ทำงานแทบตาย เตรียมพรีเซนต์แทบตาย แต่รถติดไปพรีเซนต์ไม่ทันก็เสร็จ
- ความไม่สมบูรณ์ในฟอนต์อินทรีแดงคือไม่มีตัวไหนซ้ำกันเลย เช่นคู่สับสน (คู่ ข/ฃ, คู่ ช/ซ และคู่ ผ,พ) ก็เลยทำให้ต่างกันโดยสิ้นเชิงเพื่อให้อ่านง่าย และไม่เกิดความสับสน
- ด ต ถ เป็นตัวปราบเซียน จะต้องแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเพื่อให้แยกแยะได้ดีกว่า (ในฟอนต์นี้เลยนำ ผ ผึ้งมากลับหัวให้กลายเป็น ต เต่าเสียเลย)
- การละเมิดยังไม่จบแค่นั้น อย่าง ค หรือ ฅ ก็ลองจับชิ้นส่วนที่ไม่คุ้นกันมาประกอบ หรือแม้กระทั่ง จ และ ฉ
- “ฒ ผู้เฒ่าคือ ฅ ที่แก่แล้ว ก็เลยเอา ฅ มาเติม ม ม้าลงไป ..อันนี้แถ” (ฮาครืน)
- ผลงานของดีไซเนอร์เมื่อผ่านการใช้งานไปในระยะเวลาหนึ่ง สังคมก็จะเริ่มเรียนรู้และยอมรับ เมื่อเวลาผ่านไปเราจะสามารถมีพื้นที่สำหรับออกแบบได้กว้างขึ้น (แต่เราต้องมีเหตุผลในการออกแบบด้วยนะ อย่างงานอินทรีแดงนี่ตั้งอยู่ในโจทย์ของการ “ตีความใหม่”)
- การจะทำให้ตัวอักษรทั้งชุดมีความแตกต่างไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมด ทำบางตัวก็พอให้มีคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นและมีของ
- นิตยสาร CasaViva ที่มีวางจำหน่ายในต่างประเทศ เมื่อมีฉบับภาษาไทยก็เลยให้ อ.โรจทำ สิ่งที่ยากก็คือมันมี “เชิง” (Serif) ดังนั้นจึงใส่ความเป็นไทยลงไปในตัวฟอนต์ Boloni แต่ดั้งเดิม แต่คงลักษณะเอาไว้
- แต่ปัจจุบันนี้นิตยสาร CasaViva ไม่ได้ใช้ฟอนต์นี้แล้ว (อ้าว) ฉะนั้น อ.เลยเสนอให้ใช้ฟอนต์ของ อ.ศุภกิจแทน และยังใช้มาจนปัจจุบัน
- การออกแบบฟอนต์ให้มีคู่สับสนนั้นไม่ควรทำ ถ้าพบตัวอักษรคู่ที่น่าจะเหมือนกันให้ทำออกมาให้แตกต่างกันที่สุด เพื่อให้อ่านง่ายไม่สับสน
- “จุดเริ่ม” ของแต่ละตัวอักษรนั้นจะมีความหนากว่าเชิงธรรมดาที่บางมาก
- ตามคติของตัวอักษรไทย ฐ ฐาน จะมีหยักเยอะมาก ฉะนั้นเลยลดรูปให้กลายเป็น จ จานที่มีหางเท่านั้น ส่วนหยักข้างล่างก็ทอนให้เหลือแค่ขยักเล็กๆ และลามไปถึงตัว ฎ ด้วย
- ด ต ฅ ฒ โครงสร้างจะคล้ายกันมาก แต่ในฟอนต์นี้ดีไซน์ให้ต่างกัน แต่ยังคงความเกลี้ยงเกลาตามสไตล์ Boloni
- ตัวทดลองของฟอนต์นี้คือ ฮ คือไม่ใช่แค่เติมหางลงไป แต่ใส่ความหวานด้วยการใส่ตวัดครบวง
- เท่านี้ทั้งฟอนต์ก็จะมีบุคลิกได้
- เลข ๙ ไทยในฟอนต์นี้ทำลักษณะการเขียนไทยให้วิบัติอีกแล้วครับ เลยลดขยักลงเพื่อลดความแคบ
- เป็นฟอนต์ที่ทำเสร็จในเวลา 3 วัน 3 คืน เกิดมาเพื่อวันครบรอบ 50 ปีของคณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร และนำไปขายให้กับศิษย์เก่าในราคาฟอนต์ละ 100 บาทเท่านั้น
- แต่ขายได้ทั้งหมด 800 บาท (ฮา) และไม่ค่อยมีคนใช้กัน ปัจจุบันนี้เลยเป็นของหายากไว้สำหรับให้คนเล่นของมีไว้ครอบครอง
- ปัจจุบันยังไม่ได้นำไปเข้าตารางฟอนต์มาตรฐาน เลยยังใช้ไม่ได้กับโปรแกรมตระกูล Adobe CS (ฮา)
- ในบันทึกของ อ.เขียนไว้ว่าทำไว้ตามสมัยนิยมในยุคนั้น (หมายเหตุผู้เขียน: ในปัจจุบันนี้มีฟอนต์แนวนี้เกลื่อนไปหมด เห็นแล้วเสียดาย น่าสะสมเหมือนกันนะเนี่ย) ซึ่งจริงๆ ฟอนต์นี้มีความเป็นไทยกว่าฟอนต์ในสมัยนิยม เลย
- ห หีบ
- ต เต่าเอามากลับหัวเป็น ผ ผึ้ง (อีกแล้ว)
- แต่เดิมชื่อนาครเขษม ขอชื่อมาจากนิยายเรื่องนาครเขษมของภรรยาของคุณวิศิษฏ์เจ้าเก่า แต่ภายหลังนำมาใช้กับภาพยนตร์เรื่องเปนชู้กับผี และหนังดังกว่า ก็เลยเปลี่ยนชื่อมาเป็นชื่อปัจจุบัน
- ตอนนำฟอนต์มาเสนอผู้กำกับก็ดีไซน์ฟอนต์ไปหลายแบบมากๆ เพราะต้องเป็นตัวอักษรที่สะท้อนบุคลิกของตัวอักษรในยุครัชกาลที่ 7 ด้วย
- แต่พอคุยกับผู้กำกับ คุณวิศิษฏ์ก็บอกว่า “ไม่ต้องดีไซน์แล้วแหละ ใช้ตัวอักษรของยาสีฟันวิเศษนิยมไปเลย” (ฮา)
- ข้อเสียของตัวอักษรแบบวิเศษนิยม จะพบว่าตัวมันผอมไปหน่อย และช่องไฟแคบไป ในความที่ อ.ทำงานที่บริษัทเอเจนซี่ ทำให้ซีเรียสกับการใช้ช่องไฟให้กับตัวอักษร Super (ตัวอักษรตัวเล็กๆ ที่ขึ้นแว้บเดียวในโฆษณา) เพราะถ้าช่องไฟไม่กว้างพอมันจะสว่างเป็นก้อน
- ฟอนต์นี้ออกแบบโดยยืนพื้นมาจากสไตล์ตัวหัวนก ที่มีจงอยแหลม จึงนำมาปรับดีไซน์ให้มนลงมาหน่อย ด้วยจินตนาการว่าจะนำไปใช้ ให้เหมาะกับการนำมาทำเป็นป้ายไม้แกะ
- สังเกตป้ายไม้ตามร้าน ตัวอักษรมันจะห่าง เหตุผลก็คือไม้ที่นูนเป็นตัวอักษรนั้นจะมีความนูน ทำให้เกิดเงา ถ้าเรากระจายช่องไฟจะทำให้ตัวอักษรกระจายกันอยู่ ทำให้สังเกตง่าย
- ชุดตัวอักษรนี้น่าจะเหมาะกับการนำมาทำเป็นคำว่า “มณโฑ”
- ทำออกมาเสร็จแล้วก็อยากจะเก็บไว้คนเดียว แต่ผู้กำกับบอกให้แจกก็เลยแจก แป๊บเดียวก
- แจกในงาน Somewhere Thai โดยในงานให้มีการแสดงผลงานสักอย่างที่บ่งบอกความเป็นไทย อ.ก็เลยนำบุคลิกแบบไทยๆ มาอยู่ในฟอนต์
- เป็นฟอนต์ตัวเนื้อที่ซ่ามาก โดยเฉพาะตัว ฮ โดยการนำมา
- มันเป็นไทยตรงที่มีความแหลม และมีบุคลิกโดยรวม
- จงอยของตัว ก จะมีขยักต่างจาก ฎ และ ฏ ที่ไม่มี เพราะสองตัวหลังถ้ามีจงอยเล็กมันจะทำให้หัวล้นออกมา
- “ทำฟอนต์ไม่ต้องสมบูรณ์นะครับ ทิ้งข้อสงสัยไว้ให้คนรุ่นหลัง มันจะได้ดูว่าเราเซียน” (ฮา)
- ตัวอะไรไม่ฉลาดที่สุด.. ก ไก่ครับ เพราะมันไม่มีหัว (ฮาอีก)
- การออกแบบอย่าซื่อ อย่าทำให้มันซ้ำกัน การที่ฟอนต์ภาษาอังกฤษมันซ้ำกันได้เพราะปริมาณมันไม่เยอะ แต่สำหรับตัวไทยนั้นมีความละเอียดซับซ้อนหลากหลายกว่า
- “ฟอนต์ไม่ได้งอกมาจากต้นไม้ มีคนเหนื่อยมากๆ ที่นั่งทำมันออกมา กรุณาเห็นคุณค่ามันด้วย” พยายามปลูกฝังและส่งต่อกันนะ
.
แกะรอยตัวอักษรไทยโดยเอกลักษณ์ เพียรพนาเวช
โดย เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช
- งานที่จะนำมาพูดเป็นงาน Custom Font ของคัดสรรดีมาก
- ถึงเราจะบอกว่าเอกลักษณ์ของตัวอักษรไทยคือ “มีหัว” แต่ที่เราเห็นทุกๆ วันไม่ว่าจะใหม่หรือเก่า กลับกลายเป็นฟอนต์ที่ไม่มีหัว แม้แต่ป้ายโฆษณาที่บอกว่า “หัวคิดของคนทันสมัย” (ฮา)
- ดังนั้นตัวอักษรไทยที่ไม่มีหัวจึงเป็นอีก Category นึงที่สามารถทำได้
- ร เรือที่มาจากตัว S นั้นเราเห็นจนคุ้นตา จนแทบไม่ได้มาถามกันแล้วว่านี่ตัว ร เรือหรือเปล่า?
- แบรนด์ที่เราคุ้นตามักเป็นโลโก้ฝรั่ง หรือแม้แต่ยี่ห้อไทยแต่พยายามเขียนให้กลายเป็นตัวอักษรคล้ายฝรั่ง จนกลายเป็นธรรมเนียมที่กลายเป็นพฤติกรรม ที่เวลามีแบรนด์นอกเข้ามาขายในไทย จะต้องมีการออกแบบตัวอักษรไทยใหม่ให้เข้ากับตัวละติน
- ฟอนต์สำเร็จรูปที่สามารถหาซื้อและใช้งานได้เลย รวมทั้งในหนังสือพิมพ์ ก็จะเป็นฟอนต์ที่ไม่มีหัวที่เห็นกันอยู่ได้ทั่วไป
- ทางเอเจนซี่จะคุ้นชินกับการใช้ฟอนต์ทำเป็นตัวละตินแบบไม่มีหัว
- อย่างโจทย์ของแบรนด์ dtac คือ ทำตัวอักษรไทยที่เข้ากับฟอนต์ Telenor
- ส่วน Nokia ใช้ฟอนต์ NOKIA SANS ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ ตัวบางและตัวธรรมดา จะมีความหนาเสมอกันทั้งตัว แต่พอกลายเป็นตัวหนา ความหนาในเส้นตั้งจะหนากว่าเส้นนอน ซึ่งไม่จำเป็นต้องออกแบบให้มีลักษณะนี้เหมือนกันทั้งฟอนต์ แต่ให้มีความ Balance กัน
- นิตยสาร 3D World ใช้ฟอนต์ WeddingSans ที่มีที่มาจากการนำฟอนต์ทดลองจาก 2 ตระกูลมาผสมกัน (แต่งงานกัน) โดยตระกูลนึงเป็นโครงสร้างแบบโค้ง อีกตระกูลเป็นแบบสี่เหลี่ยมมุมมน โดยการผสมนี้ไม่ได้แบ่งแบบ 50-50 แต่ใช้การจัดความพอดี ซึ่งตั้งใจทำให้คู่คล้ายไม่คล้าย
- ฉะนั้นเมื่อนำมาทำเป็นภาษาไทยแบบ “Base on Latin” ก็จะตีความตามโจทย์
หงษ์ทอง
- โดยปกติแล้วงานที่ “พยายามจะไทย” จะใช้ฟอนต์แนว Serif หรือที่ไม่เป็น Mono-line
- แต่เมื่อไทยมากๆ ก็จะทำให้ดูเชย จึงปรับให้เป็นละตินเพื่อความทันสมัย
- ซึ่งในที่สุดก็จะนำมา Combine กันให้มีบุคลิกเฉพาะ (เป็น Custom Font) เช่นการเพิ่มหางให้ ย ธ อ ฮ
ฟอนต์แม่โขง
- ลักษณะแบบอักษรไทยจะมีอีกประเภทคือใช้ปากกาหัวตัดในการออกแบบ ทั้งป้ายห้างร้านหรือแม้แต่ใช้พู่กันเขียน
- ความตั้งใจของแม่โขง ต้องการให้มีความเด็กกว่าหงษ์ทอง ดังนั้นเมื่อนำลักษณะของปากกาหัวตัดมาตีความเข้ากับโจทย์
- ไม่ได้นำมาใช้ตรงๆ แต่ศึกษาโครงสร้างและหยิบมาใช้ในสไตล์ละติน โดยหาบุคลิกพิเศษให้กับมัน
- แบบร่างฟอนต์ครั้งแรกนั้นมีบุคลิกที่จัดเกินไป เมื่อผ่านการประชุมจึงนำมาปรับให้ใช้ง่ายขึ้น
- ทั้งฟอนต์แม่โขงและหงษ์ทอง จึงกลายเป็นทั้งฟอนต์ไทยที่มีความเป็นไทยและสมัยใหม่กันทั้งคู่
.
แฮก แฮก เหนื่อย
หลังจากนั้นก็เป็นการวิจารณ์ผลงานของผู้ส่งเข้าประกวด (และชนะเลิศ 20 ผลงานจนได้มาเข้าค่ายนี้)
จากคณะกรรมาการทั้ง 6 ท่าน บรรยากาศเป็นไปอย่างจริงจังยังกะนักศึกษารายงานหน้าชั้นแน่ะ
แต่บางทีก็ดูเหมือนรายการทีวีที่มีคอมเมนเทเตอร์คอยแซวผู้นำเสนอบนเวทีเหมือนกันนะครับ
งานนี้ก็ได้ความรู้และเพิ่มพูนทักษะในการออกแบบตัวอักษรกันไปเต็มๆ เลยทีเดียว
สำหรับภาพบรรยากาศในวันที่ 2 ของโครงการค่ายฯ นี้ผมอาศัยจังหวะที่เน็ต มจธ.บางขุนเทียน
ที่เร็วปรี๊ดซะขนาดนี้ มาอัปโหลดภาพทั้งอัลบั้มขึ้นไปที่ Flickr เหมือนเดิม กดดูเพลินๆ ได้เลยครับ
ต่อภาคสามคราวหน้าครับ อีกไม่นาน :D
04 May 2011