เก็บตก “ค่ายพัฒนานักออกแบบตัวพิมพ์” 3/3
หลังจากเว็บมาสเตอร์ไปแหวกว่ายในทะเลงานมาพักใหญ่ บัดนี้ได้เวลาสรุปภาคจบของค่ายฟอนต์ซะทีครับ! ตอนสุดท้ายนี้นี่เป็นบันทึกจากการเข้าร่วมในโครงการ “ค่ายพัฒนานักออกแบบตัวพิมพ์” (อ่านย้อนตอนที่ 1 / 2 ได้นะ) คราวนี้เนื้อหาจะเป็นเรื่องเทคนิคการทำฟอนต์และการออกแบบฟอนต์ในเชิงพาณิชย์ ว่าเขาทำกันยังไง ขายกันที่ไหน สนใจคลิกอ่านได้เลยครับ
OpenType
บรรยายโดย คุณหนุ่ม / อมรินทร์พรินติ้ง
- คุณสุขาติบอกเล่าประสบการณ์ที่เคยร่วมกับทางชมรมฯ ในการผลิตฟอนต์ให้เสร็จสมบูรณ์และสามารถใช้ได้จริงกับคอมพิวเตอร์
- มีคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง เพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่าง OS แต่ละตัว (แม้กระทั่งแมคเอง ในแต่ละเวอร์ชันก็มีการแสดงผลต่างกัน แต่เดี๋ยวนี้เหมือนกันแล้ว)
- Opentype ทำงานกับ Characters (แบบอักษร) ซึ่ง Character แต่ละตัวจะอยู่เป็น Glyph (เส้นอักษร)
- ถ้า Application ไม่สามารถเรียกใช้ความสามารถของ OpenType ได้ สิ่งที่เราเขียนไว้ก็จะไม่สามารถใช้ได้ผล 100%
ฟังก์ชันหลักๆ ของ OpenType
- liga (ligature) ทำหน้าที่บอกการแสดงผลให้หยิบ Glyph อีกตารางนึงมาใช้แทนตัวปกติ
- onum, tnum, pnum เป็นฟีเจอร์เกี่ยวกับตัวเลข เราสามารถเลือกการแสดงผลแบบต่างๆ ได้ (เช่นแบบ Old Style เป็นต้น)
- frac เปลี่ยนการพิมพ์ตัวเลขธรรมดาให้กลายเป็นเศษส่วน
- ordn แสดงตัวยก เช่น 1st (เทมเพลตแรกๆ ของชมรมจะไม่มี)
- จำนวนฟีเจอร์ต่างๆ ใน OpenType นั้นมีเยอะมากๆ แต่ละโปรแกรมจะมีการ Support ความสามารถที่ไม่เท่ากัน มีฝรั่งทำตารางเปรียบเทียบไว้เยอะมาก
- อันนี้เสริม-ผมเสนอไปยังคุณหนุ่มว่าอยากได้แม่แบบฟอนต์ไทยที่ได้มาตรฐานสำหรับใช้เป็นฐานในการพัฒนาฟอนต์ไทย (แบบเดียวกับนายพลเทมเพลตของฟอนต์.คอม แต่อันนี้ขอแบบเป๊ะๆ ตามคุณลักษณะของยูนิโค้ด) ทางชมรมฯ ก็ยินดีครับ ดังนั้นเร็วๆ นี้คุณหนุ่มจะนำแม่แบบที่พัฒนาขึ้นมาแจก โดยให้ฟอนต์.คอมได้ช่วยเผยแพร่ ขอบคุณมากๆ นะครับ
.
แนะนำ FontLab Studio
คุณเดชา / เจ้าของฟอนต์ DC ปานมงคล
- โปรแกรมที่ใช้ทำฟอนต์นั้นมีหลายตัว ที่ฮิตสุดก็เป็น FontLab
- (อ.ศุภกิจเสริม) โปรแกรม FontoGrapher ออกเวอร์ชันใหม่สนับสนุน OpenType แล้ว แต่ไม่สามารถเขียนเพิ่มเติมในนั้นได้ คือเปิดอ่านได้แต่เขียนเองไม่ได้
- Adobe Illustrator เป็นโปรแกรมที่นิยมใช้ในการขึ้นรูปฟอร์มของตัวฟอนต์ แต่เราสามารถใช้ FontLab ขึ้นฟอร์มก็ได้เช่นกัน
- แนะนำหน้าตาคร่าวๆ ของโปรแกรม Fontlab และ Glyph สำหรับบรรจุตัวอักขระต่างๆ ลงไป
- สัดส่วนมาตรฐานของตัวอักษรไทย (แจกดาวน์โหลดได้ครับ)
- แนะนำวิธีการสร้างฟอนต์ด้วยโปรแกรม FontLab Studio (เสริม-ใครสนใจ เรามีคลิปสอนทำฟอนต์จากคุณ Layiji ครับ)
- เทมเพลตฟอนต์ของทางชมรมฯ ปัจจุบันมี 3 รุ่น รุ่นล่าสุดคือรุ่น TF ที่เพิ่มตัวเลขยกกำลัง, Small Caps ด้วย
.
การใช้งาน Fontlab Studio แบบละเอียดยิบ
คุณศุภกิจ เฉลิมลาภ เจ้าของฟอนต์พิมพการ, สารบรรณ, สมาร์ท / ฝ่ายออกแบบและเทคนิคของ บ.คัดสรรดีมาก
- คนเราชอบเรียกว่าสระลอย จริงๆ แล้วสระไม่เคยลอย มีแต่สละลอยแก้ว (ตึกโป๊ะ)
- ชุดคำที่เอาไว้ทดสอบวรรณยุกต์ชุดต่างๆ ทั้งหลบไม่หลบ และบนไม่บน คือ “บ่าบี่ปี่ป่า” (เสริม-ส่วนของฟอนต์.คอมเราใช้ “พี่ฎูนู่เป่าปี่” :P)
- แนะนำการใช้โปรแกรม FontLab โดยพื้นฐาน การเรียกใช้เครื่องมือจากเมนูต่างๆ
- ใครออกแบบฟอนต์ด้วยการสเก็ตช์มือหรือวาดใน Photoshop สามารถใช้เมนู File > Import background.. เพื่อนำเข้าภาพมาในโปรแกรมได้
- การวาดวงกลมหรือวงรีแบบเวกเตอร์
- ตัวภาษาไทยจะมีความเคร่งครัดมาก ต่างจากตัวภาษาอังกฤษซึ่งไม่มีตัวบนและล่าง ทำให้มีอิสระในการออกแบบ
- การออกแบบฟอนต์ที่เคร่งครัด จะต้องยึดระยะห่างช่องไฟด้านหลังให้เท่ากันเสมอ ยกเว้นบางตัวเช่น น ฉ ณ ที่อาจจะเพิ่มช่องไฟนิดนึงก็ได้ หรือใช้วิธีออกแบบหัวขมวดให้หดเข้ามาก็ได้
- ตาราง Unicode มาตรฐานในช่วงภาษาไทยนั้นมีตั้งแต่ ก ไก่ถึงโคมูตร (๛) นอกนั้นเราก็สามารถใส่เพิ่มตัวอื่นๆ ได้
- System Font ของ Windows Phone 7 นั้นมีปัญหาเพราะไม่มีชุดวรรณยุกต์ลอย ทำให้เกิดปัญหาใหม่คือ “วรรณยุกต์จม”
- เส้นดิ่ง แม้ระยะไม่ตรงกันเพียงนิดเดียวก็อาจเกิดปัญหาในการแสดงผลบนจอภาพได้ ฉะนั้นให้เลือกจุด 2 จุด คลิกขวาแล้วเลือก Align point
- ถ้าวาดเส้นตรงแล้วอยากดัดให้โค้งก็เลือก 2 จุด คลิกขวาแล้วเลือก Convert to curve เสร็จปั๊บเราจะสามารถจับดัดกลางเส้น หรือดัดแขนของเวกเตอร์ได้เลย
- อ.ศุภกิจแนะนำการปรับตั้งค่าเกี่ยวกับ Font Info (ดูจากคลิปด้านล่างนี้ได้เลยครับ)
.
ในภาคบ่าย มีการบรรยายพิเศษเป็นโบนัสแทร็กโดย อ.โรจ สยามรวยครับ
อ.โรจ ได้เปิดสไลด์ที่เก็บบันทึกเรื่องราวจากการไปเดินสายชมที่ จ.ราชบุรี ในวันแรก
แล้วนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่เกิดจากแรงบันดาลใจ
- นักออกแบบที่ดีต้องช่างสังเกต
- สำหรับนักออกแบบ เมื่อเราเอาตัวเองไปอยู่ในบรรยากาศเดิมๆ เวลาออกแบบฟอนต์ก็จะหนีไม่พ้น “ตัวละติน” ที่คุ้นเคย แต่เมื่อเราพาตัวเองไปอยู่ในอีกบรรยากาศ เช่นริมแม่น้ำ เจดีย์ โบสถ์ วิหาร ก็จะพบสไตล์ของตัวหนังสือที่หนีจากทางเดิม (ซึ่งวิธีการนี้สามารถใช้ได้กับหลายๆ สถานที่ไม่เฉพาะที่ราชบุรี)
- แรงบันดาลในการออกแบบตัวอักษรที่ได้มาจากแหล่งต่างๆ จะอยู่ในหัวเรา ให้นำมาแปลงจากภาพในหัว ออกมาเป็นภาพจริงๆ (ก็เลยเรียกว่า “ออกแบบ”)
- อ.โชว์งานที่ได้จากแรงบันดาลใจจากราชบุรี จนแปลงออกมาเป็นตัวอักษรและกราฟิกงามๆ ขนาดที่เห็นสเก็ตช์ของจริงแล้วขนลุกวูบวาบเลย (ปวดขี้.. ไม่ใช่!)
.
คุยกับ อ.ปริญญา โรจน์อารยานนท์
โดย คุณคุณชไมพร รัตนบุตรชัย
- หลังจากกรณี PSL อันโด่งดังเมื่อนานมาแล้ว อ.ปริญญาก็เลยได้รับเชิญให้ไปบรรยายว่าด้วยเรื่องลิขสิทธิ์ฟอนต์อยู่หลายครั้ง
- ในแง่ของกฎหมายและแง่ของจริยธรรมนั้นต่างกัน หลังจากบรรยายแล้วเหล่านักกฎหมายก็จะเข้าใจ ว่าลิขสิทธิ์นั้นที่จริงควรครอบคลุมถึงตัวการออกแบบด้วย ไมใช่แค่เพียงลักษณะทางโปรแกรมเท่านั้น
- DB (Dear Book) น่าจะเป็นที่แรกๆ ที่ทำฟอนต์ใช้เองในสมัยก่อน โดยร่วมกับคุณสุรพลเพื่อเปิดเป็นบริการ Output งานพิมพ์ (สมัยนั้นไม่มี PDF File) แต่ต่อมาก็มีที่อื่นเปิดบริการ Output งานมากมาย จึงได้หยุดทำฟอนต์ไประยะหนึ่ง
- เมื่อก่อนฟอนต์เป็นของชำร่วย ใครเจอกันก็แจก มันเลยเป็นของไม่มีค่า แม้กระทั่งสำนักพิมพ์ใหญ่ก็ยังนำไปใช้ฟรี พอโทรไปบอกก็พบว่าที่จริงแล้ว ทางสำนักพิมพ์ยินดีที่จะจ่าย แสดงว่าโอกาสในการขายก็เป็นไปได้
- โชคดีที่ตลาดนี้เกิดได้เพราะเรา (DB) ทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้เมื่อมีฟอนต์ใหม่ออกมาก็จะมีลูกค้าเดิมที่สนับสนุนต่อเนื่อง
- เราไม่ได้เป็นแค่คนทำฟอนต์ เรายังเป็นนักอนุรักษ์ตัวพิมพ์ด้วย
- การอนุรักษ์ฟอนต์เก่านั้นมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่บางครั้งก็ต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย
- งานตลาด ตัวที่ไม่เรียบร้อยนั้นทำง่าย ถึงไม่สวยก็มีคุณค่าของมัน แต่เมื่อดูงานสำหรับขายนั้น งานที่ประณีตก็สามารถนำมาใช้ขายได้ง่าย
- เป็นการยากที่จะประเมินงานของใครว่าถูกหรือแพง การ Set Standard เป็นเรื่องยาก แต่ก็จะต้องมี
- อยากให้ใช้กันกว้างขวางก็ขายให้ถูก แต่ถ้าอยากให้ใช้น้อยก็ขายแพงๆ (แต่ผู้ซื้อจะรู้สึกว่าเป็น Custom Font ที่ดี)
- ที่ DB ก็รับฝากขายฟอนต์ โดยที่ไม่ได้จำเป็นจะต้องใช้ตรา DB เพราะถ้ามี DB ก็จะต้องรับผิดชอบดูแล Scripts ข้างในด้วย
- การขายฟอนต์มีหลายแบบ คือฝากแผงขาย (Reseller) หรือขายภายใต้แบรนด์ หรือจัดจำหน่ายเองก็ได้
- ตลาดฟอนต์ฝรั่งยังเปิดกว้างอีกมาก เพราะตลาดในไทยแคบมาก
สัมภาษณ์ อ.เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช
โดย คุณชไมพร รัตนบุตรชัย
- ราคาของฟอนต์นั้นแล้วแต่ว่าผู้ออกแบบจะตกลงกับทางหน้าร้านว่าลงตัวกันที่เท่าไหร่
- ฟอนต์ฝรั่งที่จะขายดีคือฟอนต์ที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน หน้าตาไม่ซ้ำ
- ที่ T.26 เราสามารถตั้งราคาให้สูงหรือต่ำก็ได้ แต่ทางเว็บจะมีราคากลางๆ อยู่ โดยด้านล่างของหน้าเว็บจะมีส่วน Submission อยู่ และบอกไว้ว่าในฟอนต์หนึ่งชุดจะต้องขายยังไง ทำกี่ตัวบ้าง ส่งแบบไหน ฯลฯ และใน 1 สัปดาห์จะมีคนส่งมาประมาณ 1-200 แบบ ทางเว็บจะมีการคัดเลือกฟอนต์ที่ดูแล้วไม่ซ้ำเพื่อนำมาขาย
- อีกเว็บคือ MyFonts ที่เป็นเพียงหน้าร้านเท่านั้น ไม่ได้มีดีไซเนอร์เป็นของตัวเอง เหมือนเป็นห้างแล้วเปิดเป็นร้านเล็กๆ มาฝากขาย แต่ตัวเว็บเพิ่งดีไซน์ใหม่ มีระบบน่าใช้สวยงาม
สัมภาษณ์คุณปรัชญา สิงห์โต
โดย คุณชไมพร รัตนบุตรชัย
- เอ่อ คุณปรัชญาขึ้นไปให้สัมภาษณ์อยู่ครับ เลยไม่ได้จด -_-
- กล่าวโดยรวมก็คือผมพูดว่ารูปแบบของการแจกฟอนต์ฟรีในเว็บฟอนต์.คอมนี้ ที่จริงแล้วเมื่อทำอย่างต่อเนื่อง ผลงานของนักออกแบบเองก็จะกระจายตัวไปยังผู้ใช้ทุกกลุ่ม (แน่นอนล่ะ เพราะมันฟรี) โดยสิ่งที่ได้มาก็คือโอกาส ที่พัฒนาต่อยอดไปเป็นรายได้ไม่ยาก เรียกได้ว่า ต่อไปเวลาเราทำงานออกแบบก็คิดมูลค่าเป็นตัวเงินได้โดยอาศัยฟอนต์ของเราที่เห็นเต็มบ้านเต็มเมืองมาเป็นนามบัตรได้
- ฟอนต์.คอมคือสหกรณ์ฟอนต์ จริง แล้วก็มีนโยบายไว้เหมือนกันว่านักออกแบบสามารถสร้างสรรค์ฟอนต์ขึ้นมาเพื่อให้ทางเว็บช่วยโปรโมตให้ได้ (ส่วนรายได้ก็ไม่เกี่ยวกับทางเว็บนะ ขี้เกียจยุ่ง)
- ในแง่ของผู้ใช้ การมีอยู่ของฟอนต์.คอม คือการกระตุ้นให้ผู้ใช้ “ทุกระดับ” รู้จักค่าของผลงาน ว่าฟอนต์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่เกิดจากการที่มีผู้สร้างสรรค์มันขึ้นมา (และส่วนใหญ่ก็แจกฟรีโดยเฉพาะในเว็บนี้)
- การค่อยๆ กระตุ้นจิตสำนึกในหมู่ผู้ใช้ทั่วไปนั้น เป็นสิ่งที่ฟอนต์.คอมพยายามผลักดันมาโดยตลอด
- ฟอนต์.คอมไม่ได้เป็นศัตรูของนักออกแบบฟอนต์ที่ทำงานในเชิงพาณิชย์นะครับ ใครที่คลุกคลีกับเรา (โดยเฉพาะเวลามีคนมาถามหาฟอนต์เถื่อน) ก็จะเข้าใจดี
หลังจากนั้นก็เป็นการนำเสนอผลงานของผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละท่าน โดยมีโจทย์จากคณะกรรมการ
ว่าให้นำแรงบันดาลใจจากการไปทัศนศึกษาที่ จ.ราชบุรี มาแปลงเป็นงานกราฟิก
โดยให้ อ.ไพโรจน์ และ อ.ศุภกิจ เป็นผู้คอมเมนต์งาน
เสร็จแล้วก็มีการมอบโล่รางวัลและประกาศนียบัตร โดยอธิการบดี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ก่อนจะปิดงานและไปกินข้าวกัน
ค่ายนี้สนุกและได้ความรู้มากๆๆๆๆๆๆ
มากแบบที่ผมเองก็สงสัยว่าทำไมเราไม่เรียนอะไรแบบนี้ตอนอยู่มหาลัยวะ
และทางชมรมฯ ก็แย้มๆ ว่าอาจจะได้จัดทุกปี เพื่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายของนักออกแบบรุ่นใหม่
มีอะไรให้ผมช่วยก็บอกนะครับ ยินดีและสนุกเป็นอย่างยิ่งจ้ะ!
จบการเก็บตกจากค่ายฯ แต่เพียงเท่านี้จ้ะ
@iannnnn รายงาน (ช้าไปครึ่งเดือนเอย)
16 May 2011